วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คำสอนของพ่อหลวง



ตั้งแต่ทรงครองราชย์ จากอดีตจนถึงปัจจุบันนั้น
ในหลวงของพวกเรา ทรงมีพระบรมราโชวาท
และพระราชดำรัสกับปวงชนชาวไทย นานับประการ
ในการให้ทุกคนได้ประพฤติปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม
และทรงเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับพวกเราในทุกๆด้าน
1. ความเพียร
การสร้างสรรค์ตนเอง การสร้างบ้านเมืองก็ตาม มิใช่ว่าสร้างในวันเดียว ต้องใช้เวลา ต้องใช้ความเพียร ต้องใช้ความอดทน เสียสละ แต่สำคัญที่สุดคือความอดทนคือไม่ย่อท้อ ไม่ย่อท้อในสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ดีงามนั้นทำมันน่าเบื่อ บางทีเหมือนว่าไม่ได้ผล ไม่ดัง คือดูมันครึทำดีนี่ แต่ขอรับรองว่าการทำให้ดีไม่ครึต้องมีความอดทน เวลาข้างหน้าจะเห็นผลแน่นอนในความอดทนของตนเอง

                 พระบรมราโชวาท พระราชทานแก่นักเรียน นักศึกษา ครู และอาจารย์ในโอกาสเข้าเฝ้าฯวันที่ 27 ตุลาคม 2516
สอดคล้องกับ


1.มงคล 38 มงคลที่ 14 ทำงานไม่คั่งค้าง คือ ผลของความเพียรพยายาม

2.ทศพิธราชธรรม 10 ข้อที่ 6 ตบะ หรือความเพียร

3. พุทธศาสนสุภาษิต หมวดที่ 6 ความเพียร เช่น โกสชฺชํ ภยโต ทิสฺวา วิริยารมฺภญฺจ เขมโต
อารทฺธวิริยา โหถ เอสา พุทฺธานุสาสนี หมายถึงท่านทั้งหลายจงเห็นความเกียจคร้านว่าเป็นภัย และเห็นการปรารภความเพียรว่าเป็นความปลอดภัย แล้วปรารภความเพียรเถิด นี้เป็น พุทธานุศาสนี



2. ความพอดีในการสร้างตัวสร้างฐานะนั้นจะต้องถือหลักค่อยเป็นค่อยไป ด้วยความรอบคอบ ระมัดระวังและความพอเหมาะพอดี ไม่ทำเกินฐานะและกำลัง หรือทำด้วยความเร่งรีบ เมื่อมีพื้นฐานแน่นหนารองรับพร้อมแล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญก้าวหน้าในระดับสูงขึ้น ตามต่อกันไปเป็นลำดับผลที่เกิดขึ้นจึงจะแน่นอน มีหลักเกณฑ์ เป็นประโยชน์แท้และยั่งยืน


พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 18 ธันวาคม 2540

สอดคล้องกับ
1.แนวทางการใช้ชีวิตตามเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องความพอดี มี5ประการ คือ ความพอดีทางด้านจิตใจ ความพอดีทางด้านสังคม ความพอดีทางด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ความพอดีด้านเทคโนโลยี ความพอดีด้านเศรษฐกิจ
2.มรรค 8 : ทางสู่ความพอดี
มรรค 8 หรืออัฏฐังคิกมรรค หรืออริยมรรค มัชฌิมาปฏิปทา ทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐ ทางสายกลาง คือแนวทางดำเนินอันประเสริฐของชีวิตหรือกาย วาจา และใจ ที่ควรดำเนินไป เป็นข้อปฏิบัติที่มีหลักไม่อ่อนแอ จนถึงกับตกอยู่ใต้อำนาจความอยาก แต่ก็ไม่แข็งตึงจนถึงกับเป็นการทรมานกายให้เหือดแห้งจากความสุขเป็น "มัชฌิมาปฏิปทา" คือทางสายกลาง ไม่หย่อนไม่ตึง แต่พอเหมาะ ดั่งสายของเครื่องดนตรีที่เทียบเสียงไว้ได้ที่แล้ว




3.ความรู้ตน
      


เด็กๆ ทำอะไรต้องหัดให้รู้ตัว การรู้ตัวอยู่เสมอจะทำให้เป็นคนมีระเบียบและคนที่มีระเบียบดีแล้ว จะสามารถเล่าเรียนและทำการงานต่างๆ ได้โดยถูกต้องรวดเร็ว จะเป็นคนที่จะสร้างความสำเร็จและความเจริญ ให้แก่ตนเองและส่วนรวมในอนาคตได้อย่างแน่นอน


                           พระบรมราโชวาท พระราชทานลงพิมพ์ในหนังสือ วันเด็ก ประจำปี 2521

สอดคล้องกับ  
1. มงคล38 : มงคลที่16 คือ ประพฤติธรรม
2. พุทธศาสนสุภาษิต : คนใดมีวินัยในตนเอง คนนั้นมีแต่ความเจริญก้าวหน้า



4.ความสามัคคี
สามัคคีที่สำคัญที่สุดคืออะไร ก็คือ สามัคคีในชาติ ไม่ใช่ว่า ความสามัคคีในคณะไม่ดี แต่ต้องระวัง ถ้าสามัคคีกัน แต่ว่าไป ก้าวก่ายหรือไปทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ในสถาบันก็เป็นความผิด ถ้าสามัคคีในสถาบันไปทำให้คนอื่นเสียหายหรือเดือดร้อนก็ไม่ดี เพราะทำให้เสียหายต่อสามัคคีของชาติ


พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย: 4 เมษายน 2503


สอดคล้องกับ

1.สุภาษิตคำเมือง ไม้ต้นเดียวบ่เป็นเหล่า มีค่าคนเฒ่าบ่เป็นบ้านเป็นเมือง ทุกคนต่างมีความสำคัญ ควรมีความสามัคคี



5.รอบคอบ ระมัดระวัง

อย่าทะนงตัวว่าวิเศษกว่าผู้อื่น อย่าอวดเก่งเกินไป จะทำการสิ่งใดจงไตร่ตรองให้รอบคอบ

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : 5 กรกฎาคม 2505


สอดคล้องกับ
1.สุภาษิต จอดเรือไม่ดูท่า ขี่ม้าไม่ดูทาง หมายถึง การทำอะไรไม่พิจารณาให้รอบคอบเสียก่อน ซึ่งอาจจะเกิดการผิดพลาดหรือเสียหายได้ เปรียบได้กับการจอดเรือหรือขี่ม้า ถ้าไม่ตรวจดูท่าจอดให้แน่นอน หรือไม่ดูหนทางที่จะขี่ม้าไปว่าจะเหมาะหรือไม่ ผลเสียหายก็ย่อมเกิดขึ้นได้ สำนวนนี้บางทีก็พูดว่า ” จอดเรือให้ดูฝัง จะนั่งให้ดูพื้น ” ซึ่งมีความหมายในทางตักเตือนไว้ก่อน
2.สุภาษิต โจรปล้น10 ครั้ง ไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว หมายถึงถึงแม้คนเราจะถูกโจรขึ้นปล้นบ้านสัก ๑๐ ครั้งหรือมากกว่านั้น ก็ยังไม่ทำให้ข้าวของ หรือทรัพย์สินบางอย่างภายในบ้านเราถึงขนาดหมดเกลี้ยงตัวเลยทีเดียวนัก แต่ไฟไหม้ครั้งเดียว เผาผลาญทั้งทรัพย์สิน และที่อยู่เราวอดวายเป็นจุลไปหมด โบราณจึงว่า ” โจรหรือขโมยขึ้นบ้านสัก ๑๐ ครั้งไม่เท่าไฟไหม้ครั้งเดียว




6.การเอาชนะใจตน

ในการดำเนินชีวิตของเรา เราต้องข่มใจไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่เรารู้สึกด้วยใจจริงว่าชั่วว่าเสื่อม เราต้องฝืนต้องต้านความคิดและความประพฤติทุกอย่างที่รู้สึกว่าขัดกับธรรมะ เราต้องกล้าและบากบั่นที่จะกระทำสิ่งที่เราทราบว่าเป็นความดี เป็นความถูกต้อง และเป็นธรรม ถ้าเราร่วมกันทำเช่นนี้ ให้ได้จริงๆ ให้ผลของความดีบังเกิดมากขึ้นๆ ก็จะช่วยค้ำจุนส่วนรวมไว้มิให้เสื่อมลงไป และจะช่วยให้ฟื้นคืนดีขึ้นได้เป็นลำดับ

พระราชดำรัส พระราชทานเพื่อเชิญไปอ่าน ในพิธีเปิดการประชุมยุวพุทธิกสมาคมทั่วประเทศ ครั้งที่ 12ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา วันที่ 12 ธันวาคม 2513


สอดคล้องกับ
1. สุภาษิตจีน : ชัยชนะที่สูงค่า คือ ชนะใจตนเอง
2.ภาษิต คติพจน์ ของอังกฤษ Self-conquest is the greats of victory.
การชนะใจตนเอง คือชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ที่สุด



7. พูดจริง ทำจริง
ผู้หนักแน่นในสัจจะพูดอย่างไร ทำอย่างนั้น จึงได้รับความสำเร็จ พร้อมทั้งความศรัทธาเชื่อถือและความยกย่องสรรเสริญ จากคนทุกฝ่าย การพูดแล้วทำ คือ พูดจริง ทำจริง จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมเกียรติคุณของบุคคลให้เด่นชัด และสร้างเสริมความดี ความเจริญ ให้เกิดขึ้นทั้งแก่บุคคลและส่วนรวม

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 10 กรกฎาคม 2540

สอดคล้องกับ
1.พุทธศาสนสุภาษิต : บุคคลทำสิ่งใด ควรพูดสิ่งนั้น ไม่ทำสิ่งใด ไม่ควรพูดสิ่งนั้น
2.มงคล38 : มงคลข้อที่10 คือ มีวาจาสุภาษิต



8.คนดี
ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดี และคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดี ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้

พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติค่ายลูกเสือวชิราวุธ จังหวัดชลบุรี 11 ธันวาคม 2512

สอดคล้องกับ 1.สุภาษิต คนดีตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้




9. ความซื่อสัตย์สุจริต
ข้าพเจ้าใคร่ขอให้ท่านทั้งหลายจงมั่นอยู่ในความซื่อสัตย์สุจริต ถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง เพราะคุณธรรมอันนี้เป็นมูลฐาน อันสำคัญที่จะยังความเจริญ และความเป็นปึกแผ่นแก่สังคม เป็นบ่อเกิด แห่งความสามัคคีกลมเกลียว ความซื่อสัตย์ที่ว่านี้ หมายถึง ความสุจริต ซื่อตรงต่อหน้าที่การงาน ต่อตนเองและต่อผู้อื่น ที่เกี่ยวข้อง มีเจตนาบริสุทธิ์ไม่เอารัดเอาเปรียบ สำหรับท่านที่ใช้วิชากฎหมาย ย่อมกินความถึงการรักษาความเป็นธรรม ไม่บิดเบือน ความหมายของตัวบทกฎหมาย เพื่อประโยชน์ของตนเองด้วย ความซื่อสัตย์สุจริตจะเป็นเสมือนหนึ่งเกราะคุ้มภัยแก่ท่านตลอดไป ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ว่า “สุจริตคือเกราะบัง สาตรพ้อง"

พระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ : 23 พฤษภาคม 2496


สอดคล้องกับ
1.สุภาษิต ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน
2.มรรค8 คือสัมมาอาชีวะ



10. อ่อนโยน แต่ไม่อ่อนแอ
ในวงสังคมนั้นเล่า ท่านจะต้องรักษามารยาทอันดีงามสำหรับสุภาพชน รู้จักสัมมาคารวะ ไม่แข็งกระด้าง มีความอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ พร้อมจะเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อส่วนรวม

พระบรมราโชวาท ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 25 มิถุนายน 2496


สอดคล้องกับ

1. ทศพิธราชธรรม10 : ข้อที่ 5 คือ ความอ่อนโยน (มัททวะ)
2. มงคล38 : มงคลที่23 คือ มีความถ่อมตน



เรารักพ่อหลวง


จัดทำโดย
นางสาวเพชรดา บรรจบราช รหัสนิสิต 55040487 
สาขาการสอนภาษาจีน คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา ชั้นปีที่1